เที่ยวเวียงจันทน์ วังเวียง หลวงพระบาง หนองคาย ด้วยตัวเอง
วางแผนเดินทางกันก่อน สรุปทริปลาว วังเวียง หลวงพระบาง 6 วัน 5 คืน แผนการเดินทาง เริ่มต้นเดินทางจากกรุงเทพ ด้วยตั๋วโปรสายการบินแอร์เอเชีย ไปจังหวัดอุดรธานี แล้วเดินทางไปวังเวียงด้วยรถโดยสารระหว่างประเทศ ไปพักวังเวียง 1 คืน จากวังเวียงนั่งรถตู้โดยสารไปพักหลวงพระบาง 2 คืน แล้วนั่งรถตู้โดยสารกลับมาพักวังเวียง 1 คืน จากนั้นนั่งรถตู้จากวังเวียงไปพักเวียงจันทร์ 1 คืน จากเวียงจันทน์นั่งรถโดยสารมาด่านชายแดนหนองคาย เที่ยวหนองคายครึ่งวัน จากหนองคายนั่งรถตู้โดยสารไปอุดรธานี และต่อรถแท๊กซี่ไปสนามบินอุดรธานี เดินทางกลับกรุงเทพด้วยสายการบินแอร์เอเชีย เลยจองที่พักดังนี้ครับ
ที่พักวังเวียง Popular View Guesthouse Ban Savang, วังเวียงริเวอร์ฟร้อนต์, วังเวียง, ลาว (ดูแผนที่)
ถาวรสุข รีสอร์ท (Thavonsouk Resort)
Viengkeo Village, Vangvieng District, Vientiane , วังเวียงริเวอร์ฟร้อนต์, วังเวียง, ลาว (ดูแผนที่)
ที่พักติดริมน้ำอากาศเย็นสบาย ดื่มด่ำกับบรรยากาศวิถีชีวิตของชาวบ้าน ประทับใจสุดเลยครับ
ที่พัก หลวงพระบาง แม่โขงมูนอินน์ (Mekong Moon Inn) Ban Hoxieng, between post office and Mekong river,ศูนย์กลางเมือง, หลวงพระบาง, ลาว (ดูแผนที่)
ที่พัก เวียงจันทร์ มิไซ พาราไดซ์ Mixay Paradise Th Francois Ngin, เวียงจันทน์, ลาว
ส่วนเรื่องเที่ยวและการเดินทางของผมมาติดตามกันเลยครับ
เดินทางวันแรก
เริ่มต้นเดินทางด้วย สายการบินแอร์เอเชีย ออกจากสนามบินดอนเมือง 05.20 น. ถึงสนามบินอุดรธานี 06.25 น. ให้บริการแท๊กซี่มายังสถานีขนส่ง ค่าโดยสาร 150 บาท พอถึงสถานีขนส่งแล้ว หาข้าวเช้ากินสถานีขนส่งกันก่อนครับ
ก่อนเดินทางผมเลยเอาแผนที่มาลงให้ดูก่อน เผื่อบางคนไม่เคยไปแล้วจะงงครับ เส้นทางการเดินทางรอบนี้จะอาศัยทางหลวงหมายเลข 13 เป็นหลักครับ
เดินทางจากสถานีขนส่งดอนเมืองไปวังเวียง ด้วยรถโดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งมีวันละรอบ เวลา 08.30 น. ราคาค่าโดยสาร 320 บาทครับ
รถโดยสารระหว่างประเทศ แวะสถานีขนส่งหนองคาย ก่อนจะเดินทางถึงสะพานมิตรภาพไทยลาว
ค่าธรรมเนียมผ่านแดน 5 บาท ต้องซื้อบัตรเพื่อเสียบประตูทางออก เหมือนขึ้นรถไฟฟ้าอะครับ
เดินข้ามด่านกันแล้ว มาชมบรรยากาศโดยรอบกันบ้างครับ
ชมบรรยากาศโดยรอบด่านกันแล้ว มาชมบรรยากาศบนรถโดยสารระหว่างประเทศกันบ้างครับ
รถโดยสารระหว่างประเทศใช้เวลาเดินทางจากด่านสะพานมิตรภาพ มาวังเวียง ใช้เวลาประมาณสามชั่วโมง โดยที่ระหว่างทางแวะจอดให้ผู้โดยสารเข้าห้องน้ำซื้อข้าวของตุนไว้กินบนรถได้ครับ
หลังจากที่เดินทางมาไม่นานมาก ก็ถึงวังเวียงประมาณ บ่ายสองโมงครึ่ง แล้วนั่งรถตู้ฟรีมาลงในตัวเมืองวังเวียง บริเวณเรือนพัก มาลานี ตามหมายเลข 5 บนแผนที่ครับ
ส่วนที่ตั้ง ที่พัก Popular View Guesthouse จะอยู่บริเวณหมายเลข 10 ครับ
เก็บของกันแล้วได้เวลาตะลอนเดินเที่ยวกัน หาของกินแบบชิวๆ กันแล้วครับ
หลังจากเดินเที่ยวกันแล้ว กลับเข้าที่พัก Popular View Guesthouse อาบน้ำอาบท่า เพื่อจะเตรียมตัวออกมาตอนกลางคืนอีกรอบ แต่ปรากฏว่าหลับยาวเลยอดเที่ยวเลยครับ
เดินทางวันที่สอง
โปรแกรมวันที่สอง ต้องเดินทางไปหลวงพระบางกันแล้ว แต่ผลจากการหลับยาวไปเมื่อคืน ตอนเช้าเลยตื่นตัวเดินเที่ยวกันก่อนซักหน่อยครับ เดินออกจากที่พัก จองรถตู้ไปหลวงพระบางจากตารางเดินรถด้านล่างกันก่อนครับ ค่ารถ 70,000 กีบครับ
หลังจากได้ตั๋วรถตู้กันเรียบร้อยแล้ว เดินเที่ยวชมเมืองวังเวียงยามเช้าครับ
เดินทางมาตามถนนข้างที่พัก บรรยากาศริมแม่น้ำยามเช้าที่นี่สุดยอดจริงๆครับ
เดินขึ้นมาเจอร้านโรตีเรียงรายกันหลายร้าน อากาศหนาวๆ แบบนี้ต้องลองแวะกินแล้วแหละครับ
รองท้องด้วยโรตีกล้วยกันแล้ว เดินเที่ยวสะพานส้มกันดีกว่า ตามเที่ยวกันต่อนะครับ
หลังจากเที่ยววังเวียงเสร็จแล้ว ได้เวลาขึ้นรถตู้ไปหลวงพระบางกันแล้ว ใช้เวลาเดินทางจากวังเวียงประมาณ 6-7 ชั่วโมง
พอรถตู้ถึงหลวงพระบางแล้ว ผมจัดการเก็บของเข้าที่ แม่โขงมูนอินน์ (Mekong Moon Inn) เสร็จแล้ว ได้เวลาเที่ยวหลวงพระบางกันแล้ว
สถานที่แรกเริ่มต้นด้วย พระธาตุจอมสี บนยอดเขาสูงสุดของพูสี อธิบายอย่างนี้ครับว่า จุดที่เราขึ้นไปชมนี้เป็นภูเขาลูกเล็กๆที่อยู่กลางเมืองหลวงพระบาง ในหลวงพระบางไม่มีตึกสูง จะมีก็ยอดเขาพูสีนี้แหละครับที่สูงที่สุด ด้านบนจะมีพระธาตุตั้งอยู่ชื่อพระธาตุคือ “พระธาตุจอมสี”
ยอดเขาพูสี เป็นยอดเขาที่มีความสูงประมาณ 150 เมตร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงพระบาง เราสามารถเดินขึ้นไปบนยอดเขาพูสีได้ไม่ยากเพราะมีบันไดเป็นขั้นๆ รวม 328 ขั้นเท่านั้น เมื่อไปถึงด้านบน เราสามารถมองเห็นเมืองหลวงพระบาง และ เห็นแม่น้ำโขง และ แม่น้ำคานได้อย่างชัดเจน
ความหมายของคำว่า “พูสี” กันบ้าง ว่ามีความหมายอย่างไร คำว่า “พูสี” หมายถึง ภูเขาของพระฤาษี เดิมเขาลูกนี้ชื่อว่า “ภูสรวง” ต่อาก็มีฤาษีมาอาศัยอยู่บนเขาลูกนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ภูฤาษี” หรือภูษี มาจนถึงปัจจุบัน แต่ยังมีนักโบราณคดีบางคนเชื่อว่า “ภูษี” อาจหมายถึง “พูสี” ซึ่งเป็นศรีของเมืองหลวงพระบาง
ส่วนพระธาตุจอมสี นั้นสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอนุรุท ประมาณ พ.ศ.2337 ตัวองค์พระธาตุจอมสี มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นทรงดอกบัวสี่เหลี่ยมทาสีทอง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมยอดประดับด้วยเศวตฉัตรทองสำริด 7 ชั้น สูงประมาณ 21 เมตร ตั้งอยู่บนยอดเขาจุดสูงสุดของเมืองหลวงพระบาง
และตรงบริเวณจุดที่ตั้งพระธาตุนั้นเป็นจุดสูงสุดของภูเขาด้วย จะมีบริเวณที่สามารถมองวิวได้แบบพานอรามารอบทิศกันเลยทีเดียว มองเห็นเมืองหลวงพระบางสวยงามมาก และสวยที่สุดตอนพระอาทิตย์ตกดิน
กองทัพต้องเดินด้วยท้องแล้วสินะ เลยเดินตลาดหาของกินซะหน่อย เจอร้านกับข้าวร้านนึงกับข้าวเยอะมาก เพราะส่วนใหญ่ตลาดนี้จะขายข้าวแล้วสั่งกับข้าวกินกันที่นั่นเลย สนนราคาไม่ต่างจากบ้านเราเท่าไหร่ครับ แต่อาจจะแพงกว่าบ้านเราซักห้าบาทสิบบาทได้ครับ ^^
กินข้าวเสร็จแล้ว กลับที่พักเอาแรงลุยเที่ยวหลวงพระบางต่อพรุ่งนี้ครับ
เดินทางวันที่สาม
เริ่มต้นโปรแกรมด้วยการตักบาตรยามเช้า แต่ต้องตื่นมาตั้งแต่ตีห้าเพื่อมาหาที่นั่งมุมเหมาะกันก่อน
ส่วนของตักบาตรทั่วไปหากเป็นนักท่องเที่ยวจะมีชาวบ้านเดินขายอยู่ เป็นข้าวเหนียวกับกล้วย
เสน่ห์ของการตักบาตรที่หลวงพระบางอย่างหนึ่งก็คือ จำนวนพระสองร้อยกว่าองค์ ที่เดินรับของตักบาตรจำนวนมาก
ซึ่งเค้าเชื่อว่าถ้าได้ตักบาตรตั้งแต่พระสงฆ์องค์แรก จนถึงพระสงฆ์องค์สุดท้ายจะถือว่าได้บุญมาก
แถมบางคนเชื่อว่าจะได้กลับมาที่หลวงพระบางอีกครั้ง ซึ่งทำให้ผมตักบาตรเป็นมือระวิงเลยกลัวไม่ได้กลับมาเที่ยวที่นี่อีก ^^
พอตักบาตรเสร็จ ก็วนรถไปชมวิวแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านหลวงพระบาง ธรรมชาติที่นี่ยังถือว่าสวยงามไร้มลพิษมาก ซึ่งหายากในประเทศไทยเรา
หลังจากเที่ยวยามเช้าเสร็จแล้ว เหมานั่งเรือไปเที่ยวถ้ำติ่ง สนนราคา 75,000 กีบครับ ใช้เวลาเดินทางไปถ้ำติ่งประมาณ สองชั่วโมงครึ่งก็มาถึง
สถานที่ต่อไปคือ ถ้ำติ่ง ในวันนี้ยังแสดงถึงยุคแห่งการปฏิวัติความเชื่อ ของชาวลาวในอดีตที่เคยนับถือผี พระเจ้าโพธิสารราชทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนา เป็นผู้นำพุทธศาสนาเข้ามา และทรงใช้ถ่ำติ่ง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา และมีการค้นพบพระพุทธรูป ที่สร้างขึ้นในคริสศตวรรษที่ 18-19 กว่า 2,500 องค์ ส่วนใหญ่ทำขึ้นจากไม้ เมื่อตอนค้นพบใหม่มีพระพุทธรูปจำนวนหนึ่ง ที่ทำด้วยเงิน และทองคำ แต่ถูกลอกออกไปหมด
ตั้งอยู่ในภูเขาลูกใหญ่ตระหง่านอยู่ริมน้ำโขง เป็นลักษณะถ้ำริมหน้าผา อยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านปากอู อยู่ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบางประมาณ 30 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 13 ทางเหนือของหลวงพระบาง ผ่านหมู่บ้านช่างไห จนถึงหมู่บ้านปากอู แล้วต่อเรือเพื่อข้ามฝากแม่น้ำโขงไปเที่ยวถ้ำติ่งซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามได้เลย ค่าใช้จ่ายสำหรับเรือข้ามไปกลับ 20,000 กีบ
ค่าเข้าชมอีก 20,000 กีบ
ถ้ำติ่งประกอบไปด้วย 2 ถ้ำ เดินขึ้นไป เราจะพบกับถ้ำแรกก่อน เรียกว่า ถ้ำติ่งลุ่ม (ล่าง) และจะมีแยกซ้ายไปถ้ำติ่งเทิง (บน) ที่ถ้ำติงลุ่มนั้นจะมีพระไม้จำนวนมากวางอยู่เต็มถ้ำเลยครับ ตัวถ้ำมีความสูงประมาณ 60 เมตรจากพื้นน้ำ มีลักษณะเป็นโพรงถ้ำตื้นๆ มีหินงอกหินย้อยเล็กน้อย
สำหรับถ้ำติ่งเทิง(บน) หรือ ถ้ำติ่งบนนั้นมีทางแยกซ้ายเดินขึ้นบันไดไป 218 ขั้น สองข้างทางร่มรื่นด้วยเงาไม้ ลักษณะถ้ำติ่งบนเป็นปากถ้ำไม่ลึกมาก มีพระพุทธรูปอยู่ภายในถ้ำแต่ไม่เยอะเท่าถ้ำติ่งล่าง ที่ปากถ้ำมีไฟฉายให้เช่าสำหรับไปส่องดูภายในถ้ำ
หลังจากเที่ยวถ้ำติ่งเสร็จแล้ว นั่งเรือกลับมาที่หลวงพระบาง เริ่มต้น วัดเชียงทองราชวรวิหาร ตั้งอยู่บนถนนโพธิสารราช ริมแม่น้ำโขงพอดี วัดเชียงทองเป็นวัดที่สำคัญและสวยงาม ได้รับการมาเยือนชมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกมากที่สุด ภาพของวัดเชียงทองนั้นเป็นภาพจดจำความเป็นหลวงพระบาง นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต่างก็มาเพื่อเยี่ยมชมวัดแห่งนี้ ด้วยความงามทางสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนใคร และยังคงบอกเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมของคนหลวงพระบางผ่านสิ่งต่างๆภายในวัดได้เป็นอย่างดี
พระโพธิสารราชเจ้า ทรงสร้างวัดเชียงทองขึ้นในปี ค.ศ. 1560 และมีฐานะเป็นวัดหลวงในพระราชูปถัมภ์เรื่อยมาจนถึงปี 1975 ติดกับพระอุโบสถมีวิหารเล็กๆหลังหนึ่งเรียกกันว่า “วิหารแดง” ภายในประดิษฐฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ที่งามแปลกตากว่าที่อื่นใดด้วยสัดส่วน จีวรที่จีบเป็นริ้วโค้งออกมาทางด้านนอกตรงเหนือช้อพระบาท และ พระหัตถ์ซึ่งรองรับพระเศียรไว้อย่างสง่างาม และอ่อนช้อย พระพุทธรูปองค์นี้เคยถูกนำไปจัดแสดงอยู่ที่กรุงปารีสในปี ค.ศ. 1931 และ ไปประดิษฐานอยู่เวียงจันทร์หลายสิบปีก่อนกลับคืนสู่หลวงพระบางในปี ค.ศ.1964
สถานที่ต่อไปคือ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ลักษณะอาคารเป็นอาคารชั้นเดี่ยวยกพื้นสูง สถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส แต่เป็นการผสมผสานระหว่างฝรั่งเศสและลาว ด้านนอกอาคารเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ พระราชวังแห่งนี้เป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ เป็นระยะเวลานนาน จนสิ้นพระชนม์ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2518 พระราชวังหลวงพระบาง ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์
พระราชวังหลวงพระบางแห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1904 มีแผนผังเป็นรูปกากบาท และ สร้างฐานซ้อนกันหลายชั้น หอพระด้านหน้าเป็นที่ประดิษฐาน พระบาง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของลาว องค์พระสูง 83 เซนติเมตร พระหัตถ์แสดงปางอภัยมุทรา หล่อขึ้นด้วยทองคำ บริสุทธิ์เกือบทั้งองค์ รวมน้ำหนักทั้งสิ้นราว 43 ถึง 54 กิโลกรัม ตามตำนานเล่าว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้น ที่เกาะสิงหล เมื่อราวศตวรรษ ที่ 1
ค่าเข้าชม 30,000 กีบ (ประมาณ 120 บาท)
เปิดเวลา 08.00 – 11.30 น. และ 13.30 – 16.30 น.
หมายเหตุ ภายในพระราชวังหลวง ห้ามการถ่ายรูปทุกชนิดครับ
หลังจากเที่ยว พิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง รู้สึกอยากอาบน้ำมากเลยครับ เลยกลับที่พัก แม่โขงมูนอินน์ (Mekong Moon Inn)
อาบน้ำเสร็จกะนอนเล่นชิวๆ หลับตื่นมาอีกทีเช้าเลยครับ อดเที่ยวถนนคนเดินตอนกลางคืนเลย
เดินทางวันที่สี่
โปรแกรมวันนี้เดินทางกลับจากหลวงพระบางไปวังเวียง แต่ที่พักคืนนี้ ขอพักแบบวิวสวยๆ หน่อยละกันนะครับ เลือกพัก ถาวรสุข รีสอร์ท (Thavonsouk Resort)
ถึงที่พักแล้วเดินลงมาบริเวณด้านล่างเพื่อชมบรรยากาศวิถีชาวบ้าน ก่อนนอนพักเอาแรงก่อนเดินทางไปตะลุยเวียงจันทร์วันรุ่งขึ้นครับ
เดินทางวันที่ห้า
โปรแกรมเช้าวันนี้ต้องเดินทางกลับเวียงจันทร์กันแล้ว ใช้บริการรถของเจ้าเดิม
กลับเวียงจันทร์รอบ 10 โมง ใช้เวลาเดินทาง 3.5 ชั่วโมง ถึงเวียงจันทร์บ่ายโมงครึ่งครับ ค่าตั๋วรถ 40,000 กีบครับ
ถึงเวียงจันทร์ รถทัวร์มาจอดบริเวณสนามกีฬา เดินลงมาจะเจอกับหอวัฒนธรรมแห่งชาติลาว
เดินลงมาเรื่อยๆ จะเจอวัดมิไซ เดินเข้ามาในซอยข้างๆวัด จะเจอกับที่พัก มิไซ พาราไดซ์ Mixay Paradise
เก็บข้าวของกันเรียบร้อยได้เวลาเดินเที่ยงเวียงจันทร์กันแล้ว เดินตามทางถ่ายรูปมาเรื่อยๆครับ
เดินมาถึงสถานที่แรก คือ วัดสีสะเกด หรือ วัดสะตะสะหัสสาราม (วัดแสน) เป็นวัดที่สร้างขึ้นแห่งแรกในนครเวียงจันทน์ สตสหัสส แปลว่า 100,000, อาราม แปลว่า วัด
วัดสตสหัสสาราม จึงแปลว่า วัดแสน ในอดีตเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (ลาว) ศักดิ์ของวัดนี้เทียบเท่าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์ฯ ท่าเตียน ของไทย) เหตุที่ชื่อวัดแสนก็เพราะว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชและพุทธศาสนิกชนชาวลาวในอดีต ทรงสร้างพระพุทธรูปทั้งองค์เล็กและองค์ใหญ่ประดิษฐานไว้ทั่ววัด 100,000 องค์ ดังนั้นจึงมีชื่อเล่นว่าวัดแสน แต่ปัจจุบันมีเหลืออยู่ประมาณ 10,000 กว่าองค์เท่านั้น ไกด์บางคนบอกว่ามี 6,000 กว่าองค์ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม วัดนี้ก็มียังมีพระพุทธรูปมากที่สุดในนครหลวงเวียงจันทน์
ใน พ.ศ. 2321 เจ้าพระยาจักรี (ร.๑) ได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีให้ยกทัพไปทวงถามเครื่องบรรณาการจากลาว ลาวไม่ให้จึงสู้รบกัน ลาวรบแพ้เพราะไม่เจนศึกเท่าทหารสยาม ในฐานะที่เจ้าพระยาจักรีเป็นนักรบผู้ทรงธรรมและเคยบวชเรียนหลายพรรษา เมื่อชนะศึกแล้วจึงนำพาทหารสยามบูรณะซ่อมแซมวัดนี้ก่อนเดินทางกลับประเทศใน พ.ศ.2322 เพื่อเป็นพุทธบูชาอุทิศส่วนกุศลให้ทหารทั้ง 2 ประเทศที่เสียชีวิต เนื่องจากรบกันโดยไม่มีเรื่องบาดหมางกันมาก่อน สถาปัตยกรรมวัดนี้เกือบทั้งหมดจึงเป็นสถาปัตยกรรมไทย
หลังจากเที่ยววัดสีสะเกด เสร็จแล้ว เดินข้ามถนนมาจะเจอกับ หอพระแก้ว เดิมเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ของลาว พระเชษฐาธิราชมีพระราชประสงค์ให้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2108 เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญมาจากล้านนา สำหรับหอพระแก้วที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ได้บูรณะขึ้นใหม่ในปีพ.ศ.2480-2483
หอพระแก้ว ตั้งอยู่บนถนน เชษฐาธิราช ติดกับทำเนียบประธานประเทศ แต่เดิมเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ของลาว พระเชษฐาธิราชมีพระราชประสงค์ให้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2108 เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญมาจากล้านนา เมื่อต้องเสด็จกลับมาครองราชบัลลังก์ล้านช้างหลังจากที่พระราชบิดาคือพระเจ้าโพธิสารสิ้นพระชนม์ลงในการทำศึกสงครามกับประเทศสยาม เมื่อปีพ.ศ.2322 นครเวียงจันทน์ถูกกองทัพสยามตีแตก กองทัพสยามได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของนครเวียงจันทน์ไป พร้อมทั้งกวาดต้อนราชวงศ์ชาวลาวกลับไปยังกรุงเทพฯมากมาย สำหรับหอพระแก้วที่นักท่องเที่ยวเห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นของที่ถูกบูรณะขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด ในปีพ.ศ.2480-2483 ภายใต้การควบคุมดูแลการก่อสร้างของ เจ้าสุวรรณภูมา ผู้ที่จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์จากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และต่อมายังได้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีหลังจากได้รับเอกราชอีกด้วย แม้หอพระแก้ปัจจุบันจะไม่ใช่วัดอีกต่อไป แต่นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังนครเวียงจันทน์ก้ยังเดินทางมาสักการะบูชากันเป็นจำนวนมาก สำหรับส่วนในของพิพิธภัณฑ์นั้น จัดแสดง พระแท่นบัลลังก์ปิดทองจารึกพระไตรปิฏก ภาษาขอมและกลองสำริดประจำราชวงศ์ลาว สำหรับประตูใหญ่ทั้งสองเป็นของเก่าที่หลงเหลือมาแต่เดิม บานประตูจำหลักเป็นรูปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บริเวณโดยรอบของหอพระแก้วเงียบสงบ ร่มเย็นมีไหขนาดกลางจากทุ่งไหหิน ในเชียงขวางวางตั้งอยู่ 1 ใบ อาณาบริเวณรอบๆ วัดสีสะเกดและหอพระแก้วเคยถูกใช้เป็นศูนย์กลางของหน่วยงานปกครองของฝรั่งเศสสมัยอาณานิคมมาก่อน
ค่าเข้าชม คนละ 5,000 กีบ
เปิดเวลาเข้าชม ตั้งแต่เวลา 08.00 – 12.00 น., 13.00 น. – 16.00 น.
หมายเหตุ ภายในหอพระแก้ว ห้ามการถ่ายรูปทุกชนิดครับ
เที่ยว หอพระแก้ว เสร็จแล้ว เดินไปตามทาง เดินไปด้วยถ่ายรูปไปด้วย
เดินตามทางมาไม่ไกลมาก มาถึงจุดหมายต่อไปคือ ประตูชัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเวียงจันทน์บนถนนล้านช้างไปสิ้นสุดที่บริเวณประตูชัย สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2512 เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงประชาชนชาวลาวผู้เสียสละชีวิตในสงครามก่อนหน้าการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์
ประตูชัยแห่งนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รันเวย์แนวตั้ง เพราะการก่อสร้างประตูชัยแห่งนี้ ใช้ปูนที่อเมริกาซื้อเพื่อนำมาสร้างสนามบินใหม่ในนครเวียงจันทน์ในระหว่างสงครามอินโดจีน แต่ไม่ทันได้สร้างเพราะอเมริกาแพ้สงครามในอินโดจีนเสียก่อน จึงนำปูนซีเมนต์มาสร้างประตูชัยแทน ลักษณะสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลของประตูชัยในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมในสมัยนั้น แต่ลักษณะสถาปัตยกรรมก็ยังมีเอกลักษณ์ของลาวปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปศิลปะลาว ภาพเรื่องราวมหากาพย์รามายณะ แบบปูนปั้นใต้ซุ้มประตูโค้งของประตูชัย
ภายในมีบันไดวนให้ขึ้นไปชมทิวทัศน์ของนครเวียงจันทน์ บนยอดของประตูชัยอีกด้วย ตลอดบันไดวนของประตูชัยจะแบ่งออกเป็นชั้นๆ ซึ่งแต่ละชั้นจะมีร้านจำหน่ายของที่ระลึก
เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นชมวิวทิวทัศน์ทุกวัน
ค่าเข้าชม ผ่านประตูคนละ 3,000 กีบ
เปิดเวลาเปิดเข้าชม ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.
เดินตามทาง ไปจุดหมายสุดท้ายกันต่อครับ
จุดหมายสุดท้ายของวันนี้ คือ พระธาตุหลวง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประตูชัย พระธาตุหลวงแห่งนี้ถือเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดของประเทศลาว เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติและยังแทนความเป็นเอกราชและอำนาจอธิปไตยของประเทศลาวอีกด้วย พระธาตุนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 พระธาตุองค์นี้มีรูปทรงที่ไม่เหมือนกับองค์อื่นๆ เพราะเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมในพระพุทธศาสนากับสถาปัตยกรรมของอาณาจักร
ซึ่งต่อมาสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านช้างจากหลวงพระบางมาอยู่ที่เวียงจันทน์ ตามดำริของพระราชบิดา คือพระเจ้าโพธิสาร จากนั้นทรงมีพระบัญชา ให้ทรงสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบพระธาตุองค์เดิมไว้ ณ บริเวณที่เคยเป็นเทวสถานเก่าของขอมโดยเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2109 และหลังจากสร้างพระธาตุหลวงได้โปรดฯ ให้สร้างวัดขึ้นล้อมรอบพระธาตุไว้ทั้งสี่ทิศด้วย แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงสองแห่งด้วยกันคือ วัดพระธาตุหลวงเหนือและวัดพระธาตุหลวงใต้
ในปัจจุบัน พระธาตุหลวงมีลักษณะคล้ายป้อมปราการ เพราะมีการสร้างระเบียงสูงใหญ่ขึ้นโอบล้อมรอบองค์พระธาตุไว้ พร้อมกับทำช่องหน้าต่างเล็กๆเอาไว้โดยตลอด สำหรับประตูทางเข้านั้นเป็นประตูไม้บานใหญ่ ลงรักสีแดงไว้ทั้งหมด นอกจากนี้รอบๆองค์พระธาตุใหญ่ยังมีเจดีย์บริวารล้อมรอบอยู่โดยรอบอีหลายองค์ เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ก็จะเห็นสัญลักษณ์หนึ่งแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนาแห่งนี้ปรากฏอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรูปแกะสลักพญานาค พระพุทธรูปปิดทองลายกลีบบัวประดับอยู่บนฐานปักษ์ และถัดจากประตูทางเข้าใหญ่ประมาณ 100 เมตรจะแลเห็นพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ตั้งอยู่บนฐานสูง พระหัตถ์ทรงถือพระแสงดาบวางพาดไว้บนพระเพลา เล่ากันว่า พระแสงดาบเล่มนี้ทำหน้าที่ปกป้องพระธาตุหลวงซึ่งได้ถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวลาวทุกคน
ค่าเข้าชม คนละ 5,000 กีบ
เปิดเวลาเข้าชม ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.
หลังจากเดินเที่ยว พระธาตุหลวง เสร็จกันแล้ว เดินกลับมาดูบรรยากาศ ประตูชัย ช่วงกลางคืนกันก่อนจะเดินทางกลับที่พักครับ
เดินทางวันที่หก
การเดินทางวันที่หก ตื่นเช้าหน่อยมาชมบรรยากาศริมแม่น้ำโขง บริเวณ อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ ซึ่งอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ มีความสูง 17 เมตร (รวมฐานและแท่นยืนด้วย) ซึ่งถือว่าเป็นอนุสาวรีย์ของอดีตเจ้ามหาชีวิตลาวที่สูงที่สุดและใช้ทองแดงเฉพาะการหล่อรูปปั้นของเจ้าอนุวงศ์คิดเป็นน้ำหนักรวมถึง 8 ตัน เพื่อให้ประดิษฐานที่สวนสาธารณะริมฝั่งโขงที่อยู่ตรงข้ามกับฝั่งอำเภอศรีเชียงใหม่ในเขตจังหวัดหนองคายของไทยพอดี
ทางการลาวภายใต้การนำพาของพรรคประชาชนปฏิวัติลาวนั้นได้ให้ความสำคัญกับเจ้ามหาชีวิตพระองค์นี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า เจ้าฟ้างุ้ม เจ้ามหาชีวิตผู้สถาปนาอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางขึ้นในปี พ.ศ. 1900 และ เจ้าไชยเชษฐาธิราช เจ้ามหาชีวิตผู้สถาปนาเวียงจันทน์เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านช้างแทนหลวงพระบางในปี พ.ศ. 2103 แต่อย่างใดเลย
ทั้งนี้โดยถึงแม้ว่าพรรคประชาชนปฏิวัติลาว จะได้ล้มล้างสถาบันกษัตริย์และระบบศักดินาในลาวนับตั้งแต่ปี 1975 เป็นต้นมาแล้วก็ตามแต่ก็หาได้เป็นปัญหาอย่างใดไม่ ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่าวีรกรรมของเจ้าอนุวงศ์ ที่พรรคฯลาวได้เชิดชูขึ้นมาเป็นธงนำในการก่อสร้างอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ในครั้งนี้ ก็คือการเป็นเจ้ามหาชีวิตที่ได้กระทำในทุกวิถีทางเพื่อประกาศอิสรภาพและความเป็นเอกราชของชาติลาว ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับการต่อสู้และการนำพาของพรรคฯลาวนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีสวนสาธารณะ สำหรับพักผ่อนหย่อนใจกัน ริมแม่น้ำโขง มีสนามหญ้าเขียวๆ ชาวลาวจำนวนไม่น้อยต่างพากันมาเดินเล่น มาวิ่งออกกำลังกาย รวมทั่งเครื่องออกกำลังกายหลายชนิดที่วางเรียงรายให้ได้เล่นกันมากมาย
เดินเที่ยวริมโขงเสร็จแล้ว เดินเที่ยวถ่ายรูปต่อบริเวณที่พัก ที่เตรียมตัวเดินทางกันต่อครับ
เก็บกระเป๋าเตรียมพร้อมเดินทางกันแล้ว เดินทางต่อไปตลาดเช้า เพื่อขึ้นรถต่อไปสะพานมิตรภาพไทย-ลาว
ถึงตลาดเช้ากันแล้ว เดินทางขึ้นรถโดยสาร สาย 147 ค่าโดยสาร 6,000 กีบ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาทีครับ
การเดินทางไป Buddha Park ซึ่งนั่งสองแถว จากบริเวณสะพานมิตรภาพ แชร์ค่ารถกับชาวบ้านไปกลับคนละ 20,000 กีบ ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร แต่เดินทางเกือบ 30 นาทีได้ครับ
“สวนพระ” หรือ “Buddha Park” ถูกสร้างโดย ปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์” หรือ “ปู่เหลือ” ตอนที่ท่านอยู่ที่ลาว หลังจากนั้นท่านก็มาฝั่งไทยมาสร้างศาลาแก้วกู่จังหวัดหนองคาย สองสถานที่เป็นอะไรที่ต้องไปให้ได้ หากได้มาเที่ยวที่เวียงจันทน์หรือนครพนมครับ ทั้งสองสถานที่เป็นที่ท่องเที่ยวที่หนังสือท่องเที่ยงของฝรั่งแนะนำให้มาเที่ยวให้ได้ เพราะมีความงดงามแปลกตาหาดูได้ยาก
ปู่เหลือบางคนก็เรียกหลวงปู่บุญเหลือ ท่านเกิดที่ประเทศลาวและได้บวชศึกษาธรรมตั้งแต่เด็กๆ ได้ศึกษาวิชาการด้วนศิลปะด้วย รูปปั้นที่เกิดขึ้นก็เป็นฝีมือของท่านและลูกศิษย์ ส่วนสถานที่สร้างสวนพระก็คือที่ที่บิดามารดาท่านให้ไว้ก่อนตาย ท่านจึงได้นำมาสร้างเป็นสวนพระขึ้น สิ่งก่อสร้างและรูปพระแต่ละองค์เป็นปริศนาธรรม ผู้ดูต้องพิจารณาจึงจะเข้าใจ ไม่ใช่สถานที่ที่ดูแบบสวยงาม แต่เป็นการสอนหลักธรรมในรูปปั้นต่างๆ
ขอบคุณข้อมูล : http://www.hotsia.com/Laos/Vientiane/buddha-park-vientiane/
ค่าเข้าชม 5,000 กีบ ค่ากล้องถ่ายรูปตัวละ 3,000 กีบ
หลังจากเที่ยวกันเหนื่อยช่วงเช้าแล้ว เดินทางข้ามสะพานมิตรภาพกลับมายังประเทศไทย
ประจวบเหมาะกับได้เวลากินข้าวเที่ยงกันแล้ว เลยนั่งรถสองแถวมาลงที่ ร้านอาหารแดงแหนมเนือง บรรยากาศอันร่มรื่น สวยงามของมนต์เสน่ห์แห่งลุ่มน้ำโขง… ที่ลูกค้าจะได้สัมผัสกับ ที่นั่งริมระเบียง ทอดยาวไปตามริมแม่น้ำโขง
เวลาทำการ 06.00-19.30 น.
โทร. 0-4241-1961, 0-4242-1202, 0-4246-0647
กินกันอิ่มหนำสำราญกันแล้ว ได้เวลาเดินย่อยอาหารที่ ตลาดท่าเรือ ท่าเสด็จ หรือ ตลาดอินโดจีน ไม่ ว่าจะชื่อไหนก็ล้วนแล้วแต่เป็นชื่อที่ใช้เรียกขานของตลาดขนาดใหญ่ริมแม่น้ำ โขงในเขตเทศบาลเมืองหนองคายเหมือนกันซึ่งที่มาของชื่อตลาดก็ตั้งกันตาม ลักษณะของตลาดนี่แหละครับ อย่างชื่อแรกที่เรียกกันว่า “ตลาดอินโดจีน”
ตลาดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมสินค้าจากหลากหลายประเทศในแถบอินโดจีนไม่ว่าจะเป็น ไทยลาว เวียดนาม จีนฯลฯส่วนที่มาของอีกสองชื่อก็เริ่มมาจาก ในอดีตก่อนที่จะมีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย– ลาวท่าเรือของตลาดสินค้าอินโดจีนริมแม่น้ำโขงแห่งนี้เคยถูกใช้เป็นจุดผ่านแดนถาวรสำหรับผู้ที่ต้องการจะเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) บริเวณนี้จึงมีเรือข้ามฟากสัญจรไปมาระหว่างสองฝั่งแม่น้ำโขงอย่างคึกคักคน ท้องถิ่นจึงนิยมเรียกชื่อตลาดแห่งนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า“ตลาดท่าเรือ”
ต่อมาในปี พ.ศ.2498 ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” พร้อมด้วย “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ” ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียนราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดหนองคายและ ได้เสด็จฯขึ้นจากเรือพระที่นั่ง ณ ท่าเรือของตลาดสินค้าอินโดจีนแห่งนี้ภาย หลัง “ตลาดท่าเรือ” จึงได้ถูกเปลี่ยนชื่อไปเป็น “ตลาดท่าเสด็จ” และเรียกติดปากกันมาจนปัจจุบัน
เดินเลาะซอยมานิดหน่อยจะเจอกับทางเข้า วัดศรีคุณเมือง ตั้งอยู่อยู่ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย เดิมชื่อว่าวัดป่าขาว ท่านขุนพิพัฒน์ โภคา เป็นผู้ริเริ่มสร้างอุโบสถและสร้างเจดีย์ธาตุ โดยเฉพาะพระอาจารย์สีทัตถ์ สุวรรณมาโจเป็นผู้เปลี่ยนชื่อวัด โดยอาศัยชื่อของโยมอุปถัมถ์วัดด้วยดีมาตลอด คือ นางคูณ ทวีพาณิชย์ ซึ่งเจดีย์ของนางคูณก็อยู่ในวัดฯซึ่งได้สร้างเมื่อปี พ.ศง2476
หลวงพ่อพระสุก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยชนิดสำริด ศิลปะล้านช้าง พุทธศตวรรษที่ 24 หน้าตัก กว้าง 91 เซนติเมตร สูง 114 เซนติเมตร ฐานกว้าง 94.5 เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีคุณเมือง สำรวจโดยกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุเมื่อ พ.ศ.2535 ในราชกิจจานุเบกษา
พระพุทธรูปของ หลวงพ่อสุก วัดศรีคุณเมือง เมืองหนองคาย ได้สร้างขึ้นรุ่นราวคราวเดียวกับหลวงพ่อพระเสริมและพระใส สมัยกรุงล้านช้าง ประเทศลาว โดยพระธิดาที้ง3พระองค์ชื่อ สุก -เสริม ใส เป็นผู้สร้างขึ้นแล้วนำเอาพระนาม มาตั้งชื่อให้
และในสมัยต่อมา จะนำพระพุทธรูปทั้ง3 พระองค์นี้มาประดิษฐาน ณ เมืองหนองคาย จึงได้นำลงแพเพื่อล่องลอยมาตามลำน้ำโขง พอมาถึงบ้านหนองกุ้ง หนองแก้ว บริเวณปากน้ำงึม และเกิดพายุพัดกระหน่ำจนแพแตก ทำให้หลวงพ่อพระสุก ตกลงไปในลำน้ำโขงบริเวณนั้นชาวบ้านเรียกว่า “เวินพระสุก” จนปัจจุบันแลยได้แต่พระเสริม พระใสมาประดิษฐานโดยพระใสประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย พระเสริมได้
ประดิษฐาน ณ วัดปทุมวนาราม จ.กรุงเทพ ส่วนพระสุก แห่งวัดศรีคุณเมืองได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นองค์แทนพระสุกที่จมลงในแม่น้ำโขง โดยพระอาจารย์สุทัตถ์ สุวรรณมาใจ
เมื่อปีพ.ศ.2420 พระผู้มีอิทธิฤทธิ์และพระอาจารย์สุทัตถ์ สุวรรณมาโจ ก็ได้อัญเชิญดวงวิญญาณพระสุกให้สิงสถิตย์อยู่ในพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นแทนพระองค์ที่จมอยู่ในแม่น้ำโขง ผู้อุปถัมภ์ในการสร้างคือ ท่านขุนพิพัฒน์ โภคา พระสุกจึงได้ประดิษฐานอยู่ในวัดศรีคุณเมืองจึงได้เรียกว่า “หลวงพ่อพระสุก” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาซึ่งพระพุทธรูปหลวงพ่อพระสุกปัจจุบันประดิษฐานในพระอุโบสถวัดศรีคุณเมือง จังหวัดหนองคาย
นมัสการหลวงพ่อพระสุก เสร็จแล้ว เดินมาสักการะ หลวงพ่อพระใสที่ วัดโพธิ์ชัย เดิมชื่อ วัดผีผิว วัดนี้ใช้เป็นที่เผาผีหรือเผาศพ และมีผีดุ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นวัดโพธิ์ชัย ใน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ปัจจุบันเป็นสถานที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระใส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน ชั้นหลัง หล่อด้วยทองสุก (ทองคำ ที่มีเนื้อทองคำบริสุทธิ์ ประมาณ 92 เปอร์เซนต์ สีทองคำจะมีสีเหลืองเข้ม เรียกว่า สีทองสุก) มีพระพุทธลักษณะงดงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว สูงจากเบื้องล่างพระชงฆ์ ถึงยอดพระเกศ 4 คืบ 1 นิ้ว มีห่วงกลมขนาด หัวแม่มือจำนวน 3 ห่วง ติดกับพระแท่นซึ่งหล่อติดกับองค์พระใส สำหรับผูกเชือกติดกับยานเวลาที่อัญเชิญลงมาแห่รอบเมืองให้ประชาชน ได้สรงน้ำในช่วงวันสงกรานต์
หลังจากเที่ยว วัดโพธิ์ชัย เสร็จแล้ว เดินทางกลับอุดรธานีด้วยรถตู้ ตั๋วโดยสารคนละ 50 บาท ออกชั่วโมงละ 4 คัน หรือถ้าคนเต็มก็ออกก่อน
พอถึงสถานีขนส่งอุดรธานีแล้ว เดินทางต่อไปสนามบินอุดรธานีเพื่อขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพด้วย สายการบินแอร์เอเชีย
ถึงสนามบินดอนเมือง 19.55 น. แล้วต่อรถกลับบ้านเป็นอันสิ้นสุดทริปเที่ยวเวียงจันทน์ วังเวียง หลวงพระบาง หนองคาย ด้วยตัวเอง ครั้งนี้
ส่วนท่านใดสนใจ ค่าใช้จ่ายทริปครั้งนี้ สามารถกดลิ้ง โหลดไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ทีนี่
สุดท้ายต้องขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านตั้งแต่แรกจนจบ
ทริปต่อไปจะไปที่ไหนติดตามชมรายละเอียดได้ที่
Fackbook : https://www.facebook.com/TeawMuNDotCom